ขั้นตอนการทำ

วิธีทำโครงร่ม
โครงร่มประกอบด้วยส่วนต่างๆดังนี้

  • หัว ทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ตีนเป็น,ไม้ส้มเห็ด,ไม้ตุ้มคำ และไม้แก
  • ตุ้ม ทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ตีนเป็ด,ไม้ส้มเห็ด,ไม้ตุ้มคำ และไม้แก
  • ค้ำ ทำจาก ไม้ไผ่ตง เพราะเหนียวและทนทาน
  • ซี่กลอน ทำจากไม้ไผ่ตง เพราเหนียวและทนทาน
  • คันถือ ทำจาก ไม้ไผ่เล่มเล็ก หรือไม้เนื้ออ่อนก็ได้
  • ม้า(สลัก) ทำจากสำหรับร่มเล็กทำด้วยสปริงเหล้ก ส่วนร่มใหญ่ทำด้วยไม้ไผ่เหลา
  • ปลอกลาน ทำจาก ใบลาน ทำหน้าที่เป็นตัวเคลื่อนขึ้น-ลงเวลากางหรือหุบร่ม

1.การทำหัวร่ม ตุ้มร่ม นำไม้สำหรับทำหัวร่ม และ ตุ้มร่ม ขนาดโตวัดเส้นผ่า ศูนย์กลางตามขนาดร่มเป็นนิ้วนำเอามาตัดท่อนๆความเท่ากับขนาดของหัวร่มและตุ่มร่มที่ต้องการแล้วเจาะรูตรงกลางขนาดพอที่จะใส่คันร่มชนิดนั้นๆ ได้แล้วจึงเอาไปกลึงเป็นหัวร่มรือตุ่มร่มตามแบบที่ได้กำหนดไว้ 
2.การทำซี่ร่ม หลังจากได้ไม้ไผ่มาแล้วก็นำเอามาตัดออกเป็นท่อนๆถ้าเป็นไม้ไผ่ที่มีปล้องยาวก็ตัดระหว่างข้อ แต่ถ้าเป็นไม้ปล้องสั้นก็ตัดให้ข้อไม้อยู่ตรงกลางความยาวของท่อนไม้ที่ตัดเท่ากับขนาดของร่มที่จะทำ เช่น ทำร่มขนาด 20นิ้ว ก็ตัดไม้ไผ่ยาว 20นิ้ว เป็นต้น เมื่อตัดไม้ไผ่เป็นท่อนยาวแล้วก็ใช้มีดขูดผิวไม้ออกให้หมดแล้วทำเครื่องหมายสำหรับเจาะรูไว้ โดยการใช้ตะปูตอกบนไม้ ขอให้ปลายตะปูโผล่ออกมานิดหนึ่งแล้วใช้ไม้ขอขีดรอบปล้องไม้ตรงกับระยะที่ต้องการเจาะรูแล้วจึงผ่าไม้ออกเป็น 4ชิ้น แต่ละชิ้นขนาดเท่ากันใช้มีดตรงท้องตามระยะที่ได้กะไว้ให้เสมอกันทุกชิ้น ให้ทางปลายซี่เรียว และใช้มีดจักเป็นซี่ๆตรงหัวไม้ ความหนาแต่ละซี่ประมาณ 1/8 นิ้ว แล้วใช้มือฉีกออกเป็นซี่ๆ ถ้าฉีกไม่ออกก็ใช้มีดผ่าออกไปตรงๆ แล้วเหลาทั้งสองข้างให้ เรียบและปาดตรงหัวซี่ทั้ง 2 ให้บางพอดีที่จะใส่เข้าร่องหัวร่มได้แล้วซี่ตรงท้องนิดนึงเพื่อให้มุมมนแล้วเหลาตรงท้องซึ่งให้ ปลายซี่ร่มเรียวเท่ากันทุกๆซี่ ใช้มีดปลายแหลมแทงลงไปตรงรอยปาดท้องซี่ ให้ปลายมีดทะลุออกด้านหลังซึ่งตรงกลางแล้ว ผ่าตรงออกไปตามยาวประมาณ 2 นิ้ว เพือให้ปลายซี่สั้นสอดเข้าไปเวลาร้อยคือ ประติดกับซี่สั้น ส่วนการทำซี่ร่มสั้นนั้น ตัดไม้ยาวตามขนาดที่ต้องการแล้วเกลาเอาผิวไม้ออก แล้วทำเครื่องหมายสำหรับเจาะรู แล้ว จักเป็นซี่ๆ เหลาสองข้างให้เรียบร้อย ปลายซึ่งข้างหนึ่งปาดท้องซี่ให้เป็นมุมแล้วเหลา 2 ข้าง ให้บางที่จะสอดเข้ารองตุ่มร่มได้ ส่วนอีกข้างหนึ่งเหลาปลายให้มน และเหลาตรงปลาย 2 ข้างให้บางพอสมควร
3.การเจาะรูซี่ร่มสั้นและซี่ร่มยาว ใช้เหล็กแหลมชนิดปลายเป็นสามเหลี่ยมเจาะโดยการหมุนไปหมุนมาหรือ จะใช้เหล็กแหลมเผาไฟให้ร้อนแล้วเจาะรูก็ได้ (ถ้าไม่มีเครื่องเจาะ) แต่ถ้ามีเครื่องเจาะซี่ร่มโดยเฉพาะ ก็ใช้เครื่องเจาะเพราะจะได้เร็ว
4.การมัดหัวร่มและตุ่มร่ม นำเอาซี่ร่มยาวและซี่ร่มสั้นที่เจาะรูแล้วร้อยติดกันเรียงเป็นตับโดยร้อยเอาทางหลัง ซี่ขึ้นข้างบนทุกซี่ แล้วเอาหัวร่มที่ผ่าร่องซี่แล้วมาปาดซี่ออกเศีย 1 ช่อง เพื่อสำหรับจะได้ไว้ผูกปมเชือก เอาซี่ร่มที่ร้อยแล้วใส่ลงไป ในหัวร่มช่องละซี่ แล้วดึงเชือกให้ตึงแล้วใส่ต่อไปอีกจนครบทุกช่อง แล้วดึงปลายเชือกทั้ง 2 ข้างให้ตึง เอาปลายเชือกผูกให้แน่น แล้วตัดเชือกที่ผูกออกให้เหลือปลายเชือกไว้ประมาณข้างละ 1 นิ้ว การมัดหัวร่มและตุ้มร่มทำด้วยวิธีเดียวกัน
5.การผ่านโค้งร่ม คือ ขั้นตอนการพันเชือกบริเวณปลายซี่ร่มยาม โดยนำโครงร่มที่ผ่านการร้อยดือมาใส่คันร่มชั่วคราว จากนั้นจึงใสสลักไม้ตรงหัวร่มให้แน่น กางโครงร่มออกให้ซี่ร่มโค้งลงพอดี ผูกปลายด้ายที่เหลือจากการร้อยซี่ร่มให้แน่น พยายามจัดช่องว่างระหว่างซี่ร่มให้เท่ากัน ใช้ด้ายพันที่ปลายซี่ยาม พันวนจนครบทุกซี่และพันขึ้นรอบใหม่จนครบ 3 รอบ
6.การทำกระดาษปิดโครงร่ม นำโครงร่มที่ผ่านขั้นตอนการผ่านโค้งร่มแล้วปักลงบนหลักไม้ไผ่ เพื่อที่จะหมุนติดกระดาษได้ง่าย จากนั้นทาน้ำมันตะโกหรือน้ำยามมะค่าลงตรงหลังซี่ร่มยาวให้ทั่ว ติดกระดาษสาที่ตัดเป็นรูปวงกลมทาบลงไปบนโครง แล้วทาน้ำมันตะโกหรือน้ำยางมค่าให้ชุ่ม ระวังอย่าให้เปียกแฉะจนเกินไป วางกระดาษสา อีกแผ่นหนึ่งที่ตัดเป็นรูปวงกลมเตรียมไว้แล้วติดทับลงไปอีกชั้นหนึ่ง กระดาษจะติดเป็นเนื้อเดียวกัน หากกระดาษสา 2 แผ่นยังหนาไม่พอก็ติดทับลงไปอีกแผ่นก็ได้โดยใช้วิธีเดียวกัน เมื่อติดกระดาษสาทับกันจนได้ความหนาตามต้องการแล้ว ก็นำกระดาษสามาปิดทับเส้นด้ายที่พันรอบซี่ร่มยาวให้เรียบร้อยโดยทาน้ำยางลงไปด้วย จากนั้นจึงค่อยนำไปผึ่งแดดตากลมจนแห้งสนิท แล้วหุบร่ม
7.การทาน้ำมันยาง โดยกางร่มออกอีกครั้งแล้วใช้ผ้าชุบน้ำมันทาจนทั่วกระดาษปิดร่มทั้งด้านในและด้านนอก ควรระวังไม่ให้น้ำมันที่ทานั้นชุ่มโชกจนเกินไป เพราะจะทำให้พื้นร่มไม่สวย เพียงทาให้ซืมทั่วกระดาษก็พอ เสร็จแล้วนำไปตากแดดทิ้งไว้อีก 3 ชั่วโมง เมื่อตากจนแห้งแล้วก็หุบร่มเพื่อเตรียมใส่คันร่มต่อไป การทาน้ำมันนี้ก็เพื่อให้ร่มสามารถกันน้ำได้
หลังจากทาน้ำมันยางก็นำร่มไปตากแดดให้แห้ง ทิ้งไว้จนกว่าจะแห้งดีก็สามารถเก็บ และรอการวาดรวดลายต่อไป

8.การทำคันร่ม คันร่มจะมีขนาดยาวกว่าซี่ร่มยาวเล็กน้อย กล่าวคือเว้นให้ยาวกว่าซี่ร่มยาวให้มือสามารถจับถือได้พอดี หรืออาจยาวกว่านั้นอีกสักเล็กน้อยก็ได้ คันร่มส่วนใหญ่ใช้ไม้ไผ่ที่มีลำต้นขนาดเล็ก หรืออาจใช้ไม้เนื้ออ่อนก็ได้ โดยที่คันร่มนี้จะต้องเจาะรูสำหรับใส่ลวดสลักเพื่อใช้ยึดซี่ร่มไว้ด้วย ซึ่งลวดสลักนี้จะต้องอยู่ในตำแหน่งระยะที่ตรงกับตุ้มร่มเมื่อกางร่ม
9.การปิดหัวร่ม วัสดุที่นำมาปิดหัวร่มอาจใช้ใบลาน ใบตาล หรือกระดาษที่หนาสักหน่อย โดยนำมาตัดให้มีลักษณะเป็นปลอกไว้ที่หัวร่ม ตัดกระดาษสาเป็นริ้วยาวพันรอบหัวร่ม 3-4 รอบ ทาน้ำมันตะโกทับแล้วพันกระดาษสาทับอีกครั้ง แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง เสร็จแล้วทาน้ำมันมะเดื่อตรงหัวร่มเพื่อให้กระดาษสาที่หุ้มอยู่มีความหนาเหนียวทนทาน

การแช่น้ำยา
          นำไม้ไปแช่น้ำยาเพื่อกันปลวกกันมอดที่จะมาแทะกันกินเสาร่ม เนื่องจากตัวร่มไม้ไม่ได้ใช้เป็นระยะเวลายาวนาน

การทำขาตั้งร่มหลวง
            หาไม้ไผ่ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ใหญ่มาก พอที่จะเสียบเสาร่มได้ นำไม้ไผ่ที่เตรียมมาทำขาร่ม 3 ขา มาเจาะตรงปลายไม้ให้เป็นร่อง พอที่จะเอามาค้ำไม้ที่เป็นที่เสียบสาร่ม จากนั้นทำการเอาไม้ไผ่ที่เป็นขาร่มมาประกอบกับไม้ไผ่ที่เป็นขาเสียบเสาร่ม เจาะรูใส่น็อตให้เรียบร้อยเพื่อยึดขาร่ม

วิธีการทำกระดาษสาจากเปลือกของต้นสา
                นำเปลือกสาที่ได้มาแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง แล้วนำไปต้มกับขี้เถ้าหรือโซดาไฟ ประมาณ 3-4 ชั่วโมง จนเห็นว่าเปื่อยดีแล้วจึงนำออกมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาทุบให้ละเอียดจนยุ่ย จึงนำไปแช่ในอ่างน้ำซึ่งก่อด้วยซีเมนต์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 2คูณ 3 เมตรและลึกประมาณ1/2เมตร บรรจุน้ำ ¾ ของถัง ใช้ไม้คนให้ทั่วแล้วใช้ตะแกรงขนาดตามที่ต้องการซึ่งส่วนมากจะมีขนาด 40x60เซนติเมตรตักเยื่อเปลือกไม้ในน้ำขึ้นมาแล้วนำออกมาตากแดดให้แห้ง เมื่อเนื้อเยื่อของเปลือกสาที่ตากไว้แห้งดีแล้ว จึงค่อยลอกออกมาก็จะได้กระดาษสาเป็นแผ่นเรียกกันว่ากระดาษสา ซึ่งสามารถนำไปใช้หุ้มร่มต่อไป


วิธีหุ้มร่ม
                ร่มกระดาษสา หรือ ร่มผ้าฝ้ายคลุมร่มด้วยกระดาษสา หรือ ผ้าฝ้ายบางโดยใช้แป้งเปียกที่ผสมกับยางผลตะโก ซึ่งได้จากการทุบตะโกให้ละเอียดแล้วนำไปดองไว้ประมาณ 3 เดือนจึงนำออกมาใช้ น้ำตะโกนี้จะช่วยทำให้ร่มกันฝนได้และยังช่วยทำให้ร่มตึง และช่วยให้แป้งเปียกเหนียวยึดวัสดุที่ใช้คลุมร่มเข้ากับโครงได้สนิทดียิ่งขึ้น ในขั้นแรกทาแป้งเปียกที่ผสมน้ำยายางผลตะโกสัก 2 ครั้ง ตามร่มให้แห้งอีกครั้งหนึ่งจึงนำไปทาสี การทาสีร่มนี้ทำโดยการใช้ผ้าชุบสีกลึงบนร่มที่ต้องการสมัยก่อนมีเพียง 2 สี เท่านั้นที่ทาร่ม คือสีแดงและสีดำ สีแดงได้จากการนำสีของดินแดงที่มีอยู่บนภูเขา ส่วนสีดำนั้นได้มาจากเขม่าไฟผสมน้ำมันยาง

ร่มแพร กระดาษสา หรือ ร่มผ้าไหม
                ใช้กาวลาเท็กซ์ ทาลงบนโครงร่ม และใช้ผ้าแพร กระดาษสา หรือผ้าไหมรีดให้เรียบด้วยมือตัดให้เป็นรูปร่างตามโครงร่มที่คลุมเป็นอันใช้ได้

การเขียนลวดลายลงบนร่ม
                ในสมัยก่อน ไม่ได้มีการเขียนลวดลายลงบนร่มเหมือนในปัจจุบันเพียงใช้ร่มสีพื้นๆ 2 สี ดังกล่าวได้มาแล้ว การเขียนลายลงบนร่มพึ่งมีขึ้นมาเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง


การเขียนลาย ใช้พู่กันจุ่มลงไปในสีน้ำมันแล้วนำมาเขียนลวดลายต่าง ๆ ลงไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะใช้ความสามารถเฉพาะตัวบวกกับความชำนาญ เขียนลายกันสด ๆ ไมต้องร่างหรือดูแบบเลย ร่มกระดาษสาในสมัยก่อนนิยมทาสีแดงและสีดำ ไม่มีการเขียนลายอย่างปัจจุบัน ที่มีทั้งลายดอกไม้ ทิวทัศน์ต่างๆ สัตว์ต่าง ๆ อย่างนก มังกร ฯลฯ  เมื่อสำเร็จทุกขั้นตอนก็เป็นอันเสร็จวิธีการทำร่ม